1. จงเป็นผู้รู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง พิจารณาตนเองสำรวจตนเอง ปรับปรุงแก้ไขตนเอง ชนะอารมณ์ตนเอง ยอมรับความเป็นจริงทั้งหมด รู้จักธรรมชาติอย่างถ่องแท้ ว่าสิ่งตั้งอยู่ได้ชั่วขณะ แล้วเสื่อมโทรมไป พังไป ตายไปในที่สุด บังคับมันไม่ได้ ไม่ได้เป็นไปตามใจเรา เป็นเรื่องธรรมดาของธรรมชาติทั้งหลาย
2. จงเป็นผู้ตื่น มีสติ รู้สึกตัวอยู่เสมอกับปัจจุบัน ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต มีปัญญาใคร่ครวญให้เห็นความเป็นจริงให้เห็นการเกิดดับของกาย และใจ (ความรู้สึก - อารมณ์) แล้วปล่อยวางได้ทุกอย่าง ไม่ควรยึดถือทั้งหมด
3. จงเป็นผู้เบิกบาน ผ่องใส
ปราศจากความยึดถือในตน (เพราะมันเป็นเพียงธาตุ ๔ ประชุมกัน เท่านั้น),
ปราศจากความยึดในผู้อื่น (เพราะมันก็ธาตุ ๔ เช่นกัน),
ปราศจากความยึดถือในธาตุทั้งปวงที่รวมตัวกันเป็นสิ่งของ เป็นทรัพย์สมบัติ เป็นวัตถุธาตุ,
ปราศจากความยึดถือในอารมณ์ต่างๆ เพราะที่กล่าวมาทั้งหมดไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ไม่คงที่ ไม่คงทน ทนอยู่ไม่ได้ สลายหมด ไร้ซึ่งรูปและตัวตนที่แท้จริง
4. ไม่มีเรา ไม่มีเขา ไม่มีของเรา ไม่มีของเขา ทุกอย่างไม่ว่าเรา ไม่ว่าเขา หรือองสิ่งของทรัพย์สิน ล้วนเป็นความสมมุติกันขึ้นทั้งสิ้น พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนว่า “จงละความสมมุติและบัญญัติในโลกเสีย” เพราะมันไม่มีอะไรเลยจริงๆ ล้วนแต่ไร้แก่นสารทั้งสิ้น อย่าถือเป็นจริงเป็นจัง ทุกอย่างที่รู้ได้ ทางทวารทั้ง ๖ นั้น เป็น มายากลทั้งสิ้น ดูเห็นเป็นจริงเป็นจัง แต่แล้วก็เหลวหมด หลอกลวงทวารทั้ง ๖ ทั้งหมด
5. จงเบื่อรัก-เบื่อชัง, เบื่อทุกข์-เบื่อสุข, เบื่อสรรเสริญ-เบื่อนินทา, เบื่อมีลาภ-เบื่อเสื่อมลาภ, เบื่อมียศ-เบื่อเสื่อมยศ, เบื่อดีใจ-เบื่อเสียใจ, เบื่อชอบใจ-เบื่อไม่ชอบใจ, เบื่ออยาก-เบื่อไม่อยาก, เบื่อยินดี -เบื่อยินร้าย เสียเถิด เพราะมีสิ่งนี้ ก็มีสิ่งที่ตรงกันข้ามอยู่เรื่อยไป แล้วมันก็เกิด แล้วก็ดับ, เกิด-ดับ อยู่ร่ำไป
6. พระพุทธองค์สอนว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช้ของเรา ไม่ใช้ของเรา ไม่ใช้ตัวตนของเรา ไม่ใช้ตัวตนของเรา
ขันธ์ ๕ ก็คือ กายและใจ (อารมณ์) เรานี่แหละ เมื่อกายนี้ไม่ใช้เรา ไม่ใช้ของเรา ไม่ใช้ตัวตนของเรา และใจนี้ ก็ไม่ใช้เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่ความรู้สึก เกิด แล้วก็ดับ! แล้วใครเล่าที่จะเกิด ใครเล่าที่จะแก่ ใครเล่าที่เจ็บ ใครเล่าที่ตาย? ไม่มีใครเกิด ไม่มีใครแก่ ไม่มีใครเจ็บ ไม่มีใครตาย ธาตุ ๔ ต่างหาก ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ได้เป็นตัวตนของเราเลย กายและใจ (อารมณ์, ความรู้สึก) เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา
7. จิตเดิมนั้นริสุทธ์ ส่วนอารมณ์เป็นกิเลส เป็นตัณหา เป็นอุปาทาน เอาจิตปล่อยวางอารมณ์นั้นเสีย อย่าไปยึดมันเป็นอุปาทาน เอาจิตปล่อยวางอารมณ์นั้นเสีย อย่าไปยึดมัน อย่าไปเกาะมัน อย่าไปกำมัน อย่าไปถือมัน อย่าไปอยากไปต้องการมัน อย่าไปเอามันไว้ในใจ สลัดมันทิ้งไปเสีย จิตจะเป็นอิสรเสรี บริสุทธิ์ สงบ และปลอดโปร่งแจ่มใส
8. รูปที่เห็นด้วยตา ไม่มี เพราะมันเป็น อนัตตา เสียง ที่ได้ยินทางหู ไม่มี เพราะมันเป็น อนัตตา กลิ่น ที่รับรู้ทางจมูก ไม่มี เพราะมันเป็น อนัตตา รส ที่รับรู้ได้ด้วยลิ้น ไม่มี เพราะมันเป็น อนัตตา โผฏฐัพพะ ที่รับรู้ได้ด้วยกาย ไม่มี เพราะมันเป็น อนัตตา ธรรมารมณ์ ที่รับรู้ด้วยใจ ไม่มี เพราะมันเป็น อนัตตา แล้วเราจะยึดถืออะไรได้อีกเล่า
9. ผู้ปฏิบัติธรรม คือผู้ปฏิบัติให้รู้แจ้งความจริง ต้องใคร่ครวญทุกอย่างด้วยปัญญา มีสติ ทุกอิริยาบถด้วย ไม่ว่าจะนอน จะนั่ง จะยืน จะเดิน จะทำอะไรๆ ให้มีสติ รู้สึกตัวอยู่เสมอ ปัญญาก็ย่อมเกิด เมื่อปัญญาเกิด อารมณ์ (ทุกข์-สุข, ชอบใจ-ไม่ชอบใจ, อยาก-ไม่อยาก) ก็ดับ ขาดปัญญา อารมณ์ดังกล่าว ก็เกิด ความเกิดไม่มีอีกแล้ว หมายความว่า อารมณ์ต่างๆ ไม่เกิดอีกแล้วนั้นเอง ไม่เกิดอารมณ์ ตรงนั้นเรียกกว่านิพพาน ใจถึงความสงบนั้นเอง บริสุทธิ์ สะอาด ผ่องใส ชื่นบาน นิพพาน เมื่อยังครองขันธ์ ๕ และนิพพาน เมื่อขันธ์ ๕ ตายไป สลายไป ดับไป
10. พิจารณาหลังจากจิตสงบอยู่ในสมาธิ มีสติรู้ลมหายใจเข้าและออกว่า:- รูป คือ กายนี้ก็ดี เวทนา คือ อารมณ์ทุกข์ สุข ดีใจ เสียใจ เฉยๆ ก็ดี สัญญา คือ ความจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะจำ ธรรมารมณ์ก็ดี สังขาร คือ ความคิด ปรุง แต่ง ชอบใจ-ไม่ชอบใจ, พอใจ-ไม่ชอบใจ, ยินดี-ยินร้าย ก็ดี วิญญาณ คือ ความรู้ทางทวารทั้ง ๖ มีตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจก็ดี ทั้งหมดไม่เที่ยง, ทนอยู่ไม่ได้, ต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา บังคับอะไรไม่ได้, ตั้งอยู่ได้ไม่นาน, ต้องดับสลายไปในที่สุด,ไม่ควรยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา เพราะความเป็นจริงโดยธรรมชาติ ขันธ์ ๕ นี้ (รูป-นาม) ไม่ใช่เรา, ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช้ตัวตนของเรา
11. ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา เพราะเราไม่อยากแก่ มันก็แก่, ไม่อยากเจ็บ มันก็เจ็บ, ไม่อยากตาย มันก็ตาย ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ของเรา เพราะร่างกายมันตายก็เอาไปด้วยไม่ได้, อารมณ์ความรู้สึกเกิดขึ้นก็ดับสลายไป ไม่ยั่งยืน ทนอยู่ไม่ได้ทั้ง อารมณ์สุข อารมณ์ ทุกข์ อารมณ์ชอบใจ ไม่ชอบใจ เกิดขึ้น รู้สึกได้ ก็สลายไป ไม่อยู่ในอำนาจที่ยึดว่า ความรู้สึกต่างๆ เป็นของเราเลย เพราะมันไม่แน่นอน อารมณ์ทุกข์-สุข เกิดขึ้นเพราะความเป็นจริง ไม่รู้ตามที่มันเป็น ขันธ์ ๕ ไม่ใช้ตัวตนของเรา เพราะขันธ์ ๕ ทรงตัวอยู่ได้เนื่องด้วยอาหาร และน้ำ อากาศ ความอบอุ่น หากไม่รับประทานอาหารเข้าไป ร่างกายนี้อยู่ไม่ได้ อวัยวะต่างๆ หยุดทำงาน เราบังคับมันได้
ทำสมาธิต่อไป แล้วพิจารณาดังกล่าวข้างต้นให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง รู้ชัด สลับกันไปมา ทั้งสมถะ และวิปัสสนา มีสติรู้ชัดด้วย มรรคผล จะบังเกิดขึ้นเอง แล้วจะมีญาณเป็นเครื่องรู้เฉพาะตน เอา “สังโยชน์ ๑๐ ประการ” เป็นข้อวัดอารมณ์ปลด, ละ, วาง, เพิกถอน, สำรอกอุปาทาน เป็นข้อๆ ตั้งแต่ข้อต้นจนปลาย ค่อยๆ พิจารณาไปทีละข้อ ยอมรับตัวเองตามความเป็นจริง อย่าหลอกตัวเอง อย่าหลงในตนเอง ยอมรับความ จริงทั้งหมด