Bhavana Homestays บ้านภาวนา

14 August 2010

การบริหารความเครียด

คำถามที่มักจะถูกถามอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นจากผู้ป่วยเอง ญาติผู้ป่วยหรือแม้แต่คนที่รู้จักกันก็ตามคือ ทำอย่างไรดีถึงจะหายเครียด หรือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้คิดมาก

บางคนที่ถามอาจเพราะมีเรื่องราวเดือดร้อนใจ หรือกลุ้มใจอยู่ก่อนแล้ว แต่บางคนก็ถามเพื่อเป็นข้อมูลที่เก็บเอาไว้ประดับความรู้ เพราะฉะนั้นคำตอบก็ย่อมแตกต่างกันไป

แน่นอนที่คำตอบนั้นคงจะต้องขึ้นกับเรื่องราวของแต่ละคนว่า เรื่องของความกลุ้มใจนั้นเป็นอย่างไร ทำนองว่าเรื่องของใครก็เป็นเรื่องของคนๆ นั้น แต่อย่างไรก็ตาม ก็พอมีหลักบางอย่างอยู่บ้าง ที่พอจะช่วยให้เราเตรียมตัวหรือรับมือกับความเครียด หรือเรื่องกลุ้มใจได้ดีขึ้น

ก่อนที่จะพูดถึงแนวทางต่างๆ นั้น คงต้องขอบอกข้อมูลบางอย่าง เพื่อจะได้เป็นที่เข้าใจ ให้ตรงกันเสียก่อนเกี่ยวกับเรื่องความเครียด ก็คือ

อย่างแรก...ความเครียดจะเกิดขึ้นกับคนเราได้อยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ที่รู้สึกกันได้บ่อยก็คือ เรื่องที่ทำให้ทุกข์แต่จริงๆ แล้วเรื่องที่ดูเหมือนจะทำให้มีความสุขนั้นจะทำให้เครียดได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง การสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ หรือแม้แต่การพักผ่อนหยุดงานเป็นระยะเวลานานๆ เป็นต้น

อีกเรื่องหนึ่งคือ หลายคนมักจะพูดเชิงถามว่า ทำอย่างไรดี ถึงจะไม่ให้คิดหรือลืมเรื่องนั้นๆ ไปได้ เพราะคิดถึงทีไรก็ไม่สบายใจทีนั้น ความจริงแล้วคงลำบากที่จะทำแบบนั้น เพราะสมองคนเราไม่เหมือนเทป ที่จะสามารถลบข้อความหรือภาพบางอย่างที่เราไม่ต้องการได้ อย่างไรความทรงจำก็จะต้องมีอยู่ และเราก็ต้องมีชีวิตอยู่กับความทรงจำนั้นให้ได้

ครับ...เราจะต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ได้ คงเป็นเรื่องที่ไม่ดีเอาเสียเลย ถ้าต้องมีชีวิตอยู่ไปแล้วก็ต้องขมขื่นไป เราคงต้องปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงบางอย่างในตัวของเรา เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ไม่ฟุ้งซ่าน

แนวทางต่างๆ ต่อไปนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยประคับประคองให้เราอยู่ได้ท่ามกลางความเครียดความสับสน ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ก็เป็นเรื่องที่หลายๆ ท่านก็คงรู้อยู่ เพียงแต่จะพยายามรวบรวมให้เป็นหมวดหมู่เรื่องเดียวกันให้มากขึ้นเท่านั้น ลองพิจารณาดูนะครับ

1. ตั้งสติกับตัวเองให้ได้ เวลาที่คนเราเกิดความเครียด หลายคนมักจะตั้งตัวไม่ทัน ปล่อยใจไปกับสิ่งเหล่านั้น คิดไปกับสิ่งเหล่านั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ในสมองจะมีแต่ความวิตกกังวล บางคนเป็นมากจนถึงกับดึงความคิดของตัวเองกลับมาไม่ได้ จมอยู่กับความเครียดนั้น ไม่มีสมาธิที่จะทำอะไร อันนี้คงต้องรีบบอกรีบเตือนตัวเอง ตั้งหลักตั้งใจกันใหม่ ค่อยๆ คิด ค่อยๆ พิจารณาพยายามอย่าให้อารมณ์พาใจไปให้มากนักการค่อยๆ คิด ค่อยๆ ตั้งสติกับตัวเองนั้น จะเป็นการค่อยๆ เริ่มเรียนรู้จักปัญหา ที่มาของปัญหา และแนวทางที่เราจะใช้แก้ปัญหาได้ดีขึ้นค่อยๆ พิจารณาดูว่าข้อดี ข้อเสียที่เรากำลังจะตัดสินใจทำลงไปนั้นมีอะไรบ้าง เรารับได้หรือไม่กับผลเสียที่จะตามมา ทำไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วจึงค่อยๆ ทำลงไป อย่าปล่อยให้อารมณ์พาไป

2. อยู่กับปัจจุบันให้มากที่สุด หลายครั้งที่ความเครียดเกิดจากความวิตกกังวลว่าอนาคต หรือวันต่อไปจะเป็นอย่างไร คิดว่าเรื่องแย่ๆ หรือไม่ดีคงต้องเกิดขึ้น แล้วถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็คงจะต้องเกิดอย่างนี้และอย่างนี้ขึ้นตามมาอีก ยิ่งคิดก็ยุ่งฟุ้งซ่าน สงบสติและอารมณ์ของตนเองไม่ได้ นอนไม่หลับ ต้องรอจนเหตุการณ์มันผ่านไปเสียก่อน จึงค่อยสงบอารมณ์ลงได้ แต่ก็อีกไม่นานก็จะมีเรื่องใหม่ให้คิด ตามมา เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ดูช่างเป็นชีวิตที่น่าเหนื่อยมาก

แต่ถ้าลองทบทวนเหตุการณ์ที่เคยคิดมากๆ ที่ผ่านไปแล้วก็มักจะพบว่าสิ่งที่เคยคิด สิ่งที่เคยกังวลมักจะไม่ค่อยตรงกับเรื่องจริงๆ ที่เกิดขึ้นสักเท่าไหร่ หรือถ้าตรงเราก็สามารถที่จะมีชีวิตยืนหยัดอยู่ได้จนถึงวันนี้ (เพื่อที่จะได้ไม่คิดมากต่อไปอีกในวันข้างหน้า) เพราะฉะนั้นอย่าเปลืองพลังงานสมองให้กับเรื่องเหล่านี้เลย อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิดไป อนาคตจะเป็นอย่างไรก็คงต้องปล่อยมันบ้าง รอไว้ให้มันเกิดขึ้นจริงๆ ก่อนแล้วค่อยว่ากันอีกที ทำวันนี้ ตอนนี้ให้ดีที่สุด อยู่กับปัจจุบัน กับตัวเราให้มากที่สุดดีกว่าครับ

3. อะไรที่ผ่านมาแล้วก็ให้มันผ่านไปเสียบ้าง มีหลายคนที่หมกมุ่นอยู่แต่กับอดีต กับเรื่องราวที่เกิดขึ้นไปแล้วคิด คิด คิด ราวกับว่าอยากจะเข้าไปลบอดีต แล้วเปลี่ยนมันเสียใหม่ อยากจะให้มันเป็นแบบนี้ ไม่อยากจะให้เกิดแบบนั้น คิดไปคิดมาจนไม่มีสมาธิในการทำงาน บางคนใจลอยหลงๆ ลืมๆ อดีตเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว เราไม่สามารถที่จะย้อนกลับไปหามันได้ ใช้มันให้เป็นบทเรียนที่มีค่าจะดีกว่า หรือถ้าให้ดีก็เสียเวลาอีกหน่อย เพื่อมาคิดว่าเพราะอะไรในตอนนั้น เราถึงตัดสินใจทำแบบนั้นลงไป ทำไปเพื่ออะไร แล้วผลตอบแทนที่ได้มันคุ้มกันหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มก็คงต้องเตือนตัวเองไว้ว่าครั้งต่อไปจะตัดสินใจอย่างไร เข้าทำนองที่ว่าเจ็บแล้วก็ต้องจำเสียบ้าง

4. ยืดหยุ่นกับชีวิตตนเองให้มากขึ้น คนเราจะมีความคาดหวังได้บ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับบางคนให้ความสำคัญกับความคาดหวังนั้นมากเป็นพิเศษ ชีวิตของฉันจะต้องเป็นอย่างนั้นครอบครัวของฉันจะต้องเป็นอย่างนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องเป็นอย่างนี้ อะไรทำนองนี้เป็นต้น ความคาดหวังเป็นสิ่งที่ทำให้เรากระตือรือร้น มีกำลังที่จะทำสิ่งต่างๆ ได้ แต่การยึดติดอยู่กับความคาดหวังมากเกินไป จะเป็นตัวบั่นทอนสุขภาพจิตเราได้ง่ายๆ ชีวิตทุกคนก็มีสมหวัง ผิดหวังกันได้ สลับกันไป มิได้อย่างหนึ่งก็มักจะต้องเสียอย่างหนึ่ง จะให้ได้ทั้งหมดโดยไม่มีเสียเลยคงจะลำบาก เผื่อใจไว้บ้างกับความผิดหวัง ลองคิดดูให้ดีสิครับ ความผิดหวังคงไม่ทำให้ถึงกับชีวิตจะดำเนินต่อไปไม่ได้หรอก เพียงแต่อาจจะรู้สึกแย่ หรือเสียความรู้สึกบ้างเท่านั้นเอง

5. ลดคำถามที่ขึ้นต้นว่า "ทำไม" กับตัวเองให้น้อยลงบ้าง ทำไมเขาถึงทำกับเราแบบนี้ ทั้งๆ ที่เราก็ทำดีให้กับเขาทุกอย่างแล้ว ทำไมถึงต้องเป็นเรา ทำไมต้องเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น อะไรทำนองนี้เพราะส่วนใหญ่ยิ่งถามก็จะยิ่งไม่มีคำตอบ แล้วก็จะวกวนอยู่กับคำถามเหล่านี้ เหนื่อยเปล่าๆ ครับ คล้ายๆ กับว่าเรากำลังถามว่าทำไมพระอาทิตย์ต้องขึ้นทางทิศตะวันออก แล้วตกทางทิศตะวันตก มันเป็นคำถาม ที่ไม่รู้จะตอบอย่างไร ทางที่ดีอาจจะลองหยุดคำถามเหล่านี้ แล้วลองถามกับตัวเองว่าแล้วทำไมสิ่งต่างๆ จะต้องเป็นแบบที่เราต้องการด้วย อาจจะดีกว่า อาจทำให้เข้าใจความต้องการของตัวเองได้มากขึ้น

6. มั่นใจในตัวเองให้มากขึ้น บางคนค่อนข้างกลัวในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ไม่ค่อยกล้าทำอะไร กลัวว่าทำไปแล้วจะไม่ดี จะไม่เป็นที่ถูกใจของคนอื่น หรือถ้าไม่ทำแล้วคนอื่นจะไม่สบายใจ แต่ถ้าทำไปก็จะฝืนความรู้สึกของตัวเอง บางคนกังวลว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร ถ้าเราทำแบบนี้จนในที่สุดไม่กล้าที่จะทำในสิ่งที่อยากจะทำ แล้วต้องมานั่งอยู่กับความเครียดของตัวเอง

มั่นใจในตัวเองให้มากขึ้นเถอะครับ... ลดความรู้สึกอ่อนไหวต่อคนรอบข้างลง แล้วทำในสิ่งที่อยากจะทำลงไปบ้าง ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้ก่อความเสียหายให้กับตัวเองหรือสังคมรอบข้างจริงๆ แล้วถ้าคิดกันให้ดีๆ ว่า ที่เรานั้นคอยกลัวอยู่เรื่อยว่าคนโน้นจะว่า อย่างนี้ คนนั้นจะว่าอย่างไรนั้น มันก็คือความกลัวต่อความคิดของเราเองทั้งสิ้น คิดเองแล้วก็กลัวเอง อยู่คนเดียว เอาชนะใจตัวเองให้ได้ครับ แล้วหลายๆ อย่างจะดีขึ้นตามมา

7. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ จิตใจที่แจ่มใส พร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ นั้น มักจะอยู่คู่กับร่างกายที่สมบูรณ์ เป็นเสมือนภูมิต้านทานให้แก่กันและกัน การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การพักผ่อนให้เต็มที่ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ ที่จะมีผลเสียหรือเป็นโทษต่อร่างกายเหล่านี้จะช่วยให้สุขภาพสมบูรณ์เป็นหลักที่มั่นคงสำหรับจิตใจ เพื่อที่จะเผชิญกับความเครียดในวันต่อไปข้างหน้าได้ครับ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อยสำหรับทุกๆ ท่าน ความจริงแล้วยังมีอีกหลายแนวทาง ที่จะทำให้สุขภาพจิตนั้นดีขึ้น บางอย่างก็จะเหมาะกับคนบางคน บางคนก็รู้ดีอยู่ว่าอะไร คืออะไร แต่หักห้ามใจไม่ให้คิดไม่ได้ครับ ของอย่างนี้คงต้องใช้เวลากันบ้าง ในการที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดของเราเอง ขอให้ลองพยายามกันต่อไปครับเพื่อความสุขในชีวิตของเรา

ขอขอบคุณ : ผศ.จักรกฤษณ์ สุขยิ่ง เอื้อเฟื้อบทความ

No comments:

Post a Comment